วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

“ทุเรียนเมืองช้าง” ผลผลิตใหม่ของเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์

“ทุเรียนเมืองช้าง”


จังหวัดสุรินทร์ ได้มีโครงการ “สุรินทร์รุ่งเรือง สู่เมืองเกษตรอินทรีย์”  โดยมีกิจกรรมที่สำคัญของโครงการ คือ ส่งเสริมการปลูกทุเรียนเมืองช้าง โดยจังหวัดสุรินทร์เริ่มมีเกษตรกรปลูกทุเรียนครั้งแรกในพื้นที่อำเภอบัวเชด มาเป็นเวลากว่า 20 ปี 


ปัจจุบันมีการปลูกทุเรียนในพื้นที่ 13 อำเภอ รวมพื้นที่ทั้งหมด 817 ไร่ หรือประมาณ 22,947 ต้น ส่วนใหญ่เป็นพัธุ์หมอนทอง และในปี 2564 มีทุเรียนที่ให้ผลผลิตจำนวน 499 ต้น ประมาณการผลผลิต จำนวน 5,435ลูก ซึ่งทุเรียนเมืองช้างของจังหวัดสุรินทร์ จะมีเอกลักษณ์ที่สำคัญ คือ “สีนวลดั่งงาช้าง รสสัมผัส หอมเย็น หวานละมุน”




ขเกษตรกรชาวสวนทุเรียนเมืองช้าง 



ลุงเพียว แซงสว่าง 

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเมืองช้าง

“ได้ความรู้และประสบการณ์จากการเป็นลูกจ้างสวนผลไม้ที่จังหวัดจันทบุรี ประมาณ 20 ปี จึงมีความชำนาญในการปลูก และดูแลทุเรียน และเมื่ออายุมากขึ้น ก็ต้องย้ายกลับมาอยู่ที่บ้าน อยากสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว จึงได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมา ลองผิดลองถูก และด้วยความตั้งใจ จึงมีทุเรียนเมืองบ้างในวันนี้”

พันธุ์ : หมอนทอง
ขนาด : น้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม
พื้นที่ปลูก : อยู่บ้านเลขที่ 113 บ้านน้อยพุทธยางกูล หมู่ที่ 7 ตำบลตรวจ อำเภอศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์
ลักษณะพิเศษ : “อร่อย กรอบนอกนุ่มในเปลือกบาง”


รติกาล ฉิมงาม

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเมืองช้าง


“ สิ่งที่ลืมไม่ได้ในอาชีพการทำสวนคือ อย่าทำอย่างโดดเดี่ยว ต้องมีเป็นกลุ่ม ต้องมีส่วนร่วม มีความรู้อย่างไรต้องแบ่งปัน เพื่อแลกเปลี่ยน เราทำได้ แต่เขาอาจจะทำไม่ได้เพราะอะไร จะได้ช่วยกันแก้ปัญหา พี่ต้องศึกษาข้อมูลการปลูกทุเรียน โดยแลกเปลี่ยนความคิดจากคนในโลกออนไลน์ เพราะพี่เชื่อว่าการเรียนรู้จากการฝึกปฎิบัติ จะก่อให้เกิดความรู้ และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์”


พันธุ์ : ก้านยาว
ขนาด : น้ำหนักประมาณ 2-3 กิโลกรัม
พื้นที่ปลูก : บ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 8 ตำบลจรัส อำเภอบัวเช็ด จังหวัดสุรินทร์
ลักษณะพิเศษ : “เปลือกบาง เมล็ดเล็ก เนื้อแน่น กรอบนอกนุ่มใน กลิ่นหอม ละมุนลิ้น”



สงวน ศาลางาม 

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเมืองช้าง

“การทำสวน ไม่ว่าจะปลูกอะไรก็ตามสิ่งสำคัญคือ ความอดทน เพราะเราไม่สามารถบังคับให้พืชพรรณทั้งหลายเป็นไปอย่างที่เราต้องการได้ ด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ อากาศ และสภาพภูมิประเทศ แต่ที่สำคัญคือ เราจะสามารถอดทนกับความไม่แน่นอนของธรรมชาติและความล้มเหลวที่ควบคุมไม่ได้อีกกี่รอบ ถ้าเราอดทนได้ ผมเชื่อว่าเราก็ต้องทำได้”


พันธุ์ : หมอนทอง
ขนาด : น้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม 
พิ้นที่ปลูก : บ้านเลขที่ 78 หมู่ที่ 7 บ้านโนนทอง ตำบลโคกตะเคียน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
ลักษณะพิเศษ : “อร่อย กรอบนอกนุ่มใน กลิ่นหอมละมุนลิ้น”


เลือย รักสกุล

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเมืองช้าง 

“ด้วยราคายางพาราในพื้นที่ตกต่ำ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอที่จะดูแลครอบครัว ผมจึงได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยาง เพื่อปลูกพืชชนิดอื่น ตอนแรกไม่คิดว่าตัวเองจะปลูกทุเรียนได้ เนื่องจากไม่เคยมีความรู้ในเรื่องทุเรียนเลย แต่ ณ เวลานั้นจะปลูกได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว สำคัญที่ปากท้องคนในครอบครัว คือถ้าไม่ทำก็ต้องอดซึ่งผมยอมไม่ได้”

พันธุ์ : หมอนทอง
ขนาด : น้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม
พื้นที่ปลูก : บ้านไทยนิยมพัฒนา หมู่ที่ 17 ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
ลักษณะพิเศษ : “เนื้อแน่น กรอบนอก นุ่มใน กลิ่นหอม”


ฉลอม จุดาบุตร

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเมืองช้าง

“ ป้าเป็นคนที่ชอบกินทุเรียนมาก แต่ด้วยราคาทุเรียน มีราคาสูง จึงทำให้แต่ละปีได้กินทุเรียนไม่กี่เม็ด เลยคิดว่าถ้าเราสามารถปลูกสิ่งที่เราชอบ ก็จะทำให้เราได้กินในสิ่งที่เราชอบในปริมาณมากๆ ป้าจังเริ่มเพาะกล้าต้นทุเรียน และปลูกไว้ขอบสระหลังบ้าน ด้วยความที่เราชอบ เราจะไม่รู้สึกเหนื่อยกับสิ่งที่ทำ มีกำลังที่จะตื่นมารดน้ำ พรวนดิน โดยไม่มีข้อสงสัยหรือย้อขัดแย้งใดๆ นั่นคือสัญญาณที่กำลังบอกว่า งานที่ป้าทำอยู่มันใช่แล้วสำหรับป้า”


พันธุ์ : หมอนทอง 
ขนาด : น้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม
พื้นที่ปลูก : บ้านโคกกลัน หมู่ที่ 7 ตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
ลักษณะพิเศษ : “เนื้อแห้ง กรอบนอกนุ่มใน กลิ่นหอมละมุน เหมือนงาช้าง”





ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่า ทุเรียนเมืองช้าง มีรสชาติหวาน กรอบนอก นุ่มใน และมีสีเหลืองนวลดั่งงาช้าง  จึงขอเชิญชวนทุกท่านแวะมาชม มาชิมทุเรียนเมืองช้าง ผลผลิตใหม่ทางการเกษตรของจังหวัดสุรินทร์ 





ขอบคุณรูปภาพจาก : Facebook เพจ สุรินทร์รุ่งเรือง สู่เมืองเกษตรอินทรีย์

                                 : คุณอัครเดชา ฮวดคันทะ

รายงาน : อังคณา สอนสงคราม (นักศึกษาฝึกงาน)

เรียบเรียง : จุฑามาศ คิดกล้า (นักศึกษาฝึกงาน)